วันอาทิตย์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2553

เรื่อง เผือกๆ ที่ไม่เผือก (Taro)

Taro

Thai Name:

Puak

Scientific Name:

Colocasia esculenta

Description-Size
Color:

10-12 cm in diameter with 18-26 cm long
Brown.

Nutritional Value:


16 kcal, 4.1 g protein 160 mg
calcium, 1 mg iron, 5.5 mg vitamin A
65 mg vitamin C, per 100 g serving.

Use:

Peel, slice, wash in salt water
steam and eat.

Season:

Throughout the year.

Storage:

3 to 4 months in cool dry place

ประวัติความเป็นมาของเผือกเป็นอย่างไร

เผือกมีชื่อภาษาอังกฤษว่า ทาโร (Taro) นอกจากชื่อนี้ยังมีชื่ออื่นอีก คือโอลด์โคโคแยม (Old Cocoyam) แดเชน หรือ แดชีน (Dashen หรือ Dasheen) และ เอดโด (Eddo หรือ Eddoe)

เผือกที่ถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเชียและแถบมหาสมุทรแปซิฟิก เผือกเป็นอาหารหลักของชาวนิวกีนี เดิมที่เดียวเผือกเป็นพืชป่า ต่อมามนุษย์จึงนำเอาเผือกมาปลูกเพื่อใช้รับประทาน คนไทยรู้จักรับประทานเผือกมานานแล้ว

ประเทศไทยในปัจจุบันมีการปลูกเผือกในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศมีการปลูกเผือกมากที่สุดในจังหวัดในภาคกลาง ซึ่งมีเนื้อที่ปลูกมากกว่าครึ่งหนึ่งของเนื้อที่ปลูกเผือกทั้งหมดของประเทศ จังหวัดที่ปลูกมาก ได้แก่ ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชัยนาท สมุทรสาคร รองลงไป ได้แก่ ภาคใต้ ปลูกมากในจังวัดสงขลา สุราษฎร์ธานี ชุมพร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปลูกมากในจังหวัดบุรีรัมย์ มหาสารคาม ส่วนภาคเหนือปลูกเผือกน้อยกว่าภาคอื่น ๆ ปลูกมากในจังหวัดน่าน

จังหวัดที่ปลูกเผือกมากที่สุดของประเทศได้แก่จังหวัดราชบุรีมีเนื้อที่ปลูกปีละประมาณ ๑๓,๒๓๗๘ ไร่ ผลิตผลปีละประมาณ ๑๓,๒๓๘ ตัน (สถิติปี พ.ศ. ๒๕๑๑)

เผือกมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่าอะไร

ลักษณะทั่วไป

เผือกเป็นพืชที่มีอายุมากกว่า ๑ ปีขึ้นไป (perennial) หัวเผือกเป็นลำต้นที่เกิดอยู่ใต้ดิน ประกอบด้วยหัวใหญ่ ๑ หัว และมีหัวเล็กๆ แตกออกรอบ ๆ ขนาดรูปร่างของหัว สีของเนื้อเผือก มีความแตกต่างกันออกไปตามพันธุ์ หัวใหญ่มีน้ำหนักตั้งแต่หนักกว่า ๔๕๐ กรัม ถึงหนักกว่า ๓.๕ กิโลกรัม หัวเล็กหนักตั้งแต่น้อยกว่า ๒๘ กรัม ถึง ๔๕๐ กิโลกรัม ถึงหนักกว่า ๓.๕ กิโลกรัม หัวเล็กหนักตั้งแต่น้อยกว่า ๒๘ กรัม ถึง ๔๕๐ กรัมเนื้อเผือกมีสีต่างกันตั้งแต่สีขาว เหลือง ส้ม จนถึงแดงหรือม่วง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

เผือกมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า โคโลคาเซีย เอสคูเบนตา (แอล) ชอตต์ (Colocacia esculenta (L) Schott) อยู่ในตระกูลอะราเซีย (Aracea) ที่ทราบมีเผือกอยู่กว่า ๒๐๐ พันธุ์ ในเมืองไทยนั้นมีหลายพันธุ์เช่นกัน พืชอีกชนิดหนึ่งทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า เผือก หนังสือพันธุ์ไม้แห่งประเทศไทย เล่ม ๑ ของกรมป่าไม้เรียกว่า ลกกะเซีย (lok-ka-sia) และมีชื่ออื่น ๆ อีก เช่น ยัวเทีย (yautia) และแทนเนีย (tannia) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า แซนโทโซมา ซากิตทิโฟลเลียม (Xanthosoma sagittifollium) ลกกะเซีย เป็นเผือกหัวเล็ก เนื่องมาจากหัวที่เป็นแกนใหญ่ไม่สะสมแป้ง จึงใช้เฉพาะส่วนหัวแขนงเท่านั้น เผือกเป็นพืชมีอายุอยู่ได้หลายฤดู ลำต้นใต้ดินเจริญเติบโตกลายเป็นหัว และมีหัวเล็ก ๆ ล้อมรอบ หัวมีขนาดและรูปร่างต่างกันออกไป ปกติต้นสูง ๐.๔-๒ เมตร ใบใหญ่เป็นรูปหัวใจ มีขนาดสีต่าง ๆ กัน ใบเกิดจากใต้ดิน ดอกปกติประกอบด้วย ๒-๕ ช่อดอก อยู่ในก้านใบ ช่อดอกมีก้านยาว ๑๕-๓๐ ซม. ดอกบานทยอยกันเรื่องๆ ดอกตัวเมียมักจะไม่มี ดอกตัวผู้หนึ่งดอกมีก้านเกสรตัวผู้ ๒-๓ อัน ผลมีสีเขียว เปลือกบาง ไม่ค่อยมีเมล็ดเท่าที่ทราบเผือกที่ปลูกในฮาวาย นิวกินี และโดมินิกัน สามารถติดเมล็ดได้

เผือกมีกี่ชนิด

เดิมที่เดียวนักพฤกษศาสตร์ได้แบ่งเผือกออกเป็น ๒ ชนิด คือ ซี แอนทิโควรุม (C.antiquorum)กับ ซี เอสคูเลนตา (C.esculenta) ต่อมาเมื่อได้ตรวจลักษณะอย่างละเอียดแล้ว เขาจึงจัดเผือก ๒ ชนิดเข้าไว้เป็นชนิดเดียวกัน คือ ซี เอสคูเบนตา คงแตกต่างกันที่พันธุ์เท่านั้น ขณะนี้เผือกจึงแบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ

๑. ประเภทเอดโด (eddoe) ประเภทนี้ได้แก่ ซี เอสคูเลนตา วาร์ แอนทิโควรุม (C.escu enta var/antiquorum) หรือ ซี เอสคูเลนตา วาร์ โกลบุลิเฟอรา (C. esculentavar. globulifera) ได้แก่ เผือกที่มีหัวขนาดไม่ใหญ่ และมีหัวเล็กกว่าล้อมรอบหลายหัวทุกหัวรับประทานได้ และใช้ทำพันธุ์ได้

๒. แระเภทแดชีน (dasheen) ประเภทนี้ ได้แก่ ซี เอสคูลนตา วาร์ เอสคูเลนตา (C.esculenta var. exculenta) ได้แก่ เผือกที่มีหัวขนาดใหญ่ และมีหัวขนาดเล็ก ๆ ล้อมรอบ หัวใหญ่ใช้รับประทานส่วนหัวเล็ก มักใช้ทำพันธุ์ เผือกประเภทนี้ได้แก่เผือกหอม ซึ่งเป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกกันโดยทั่วไปของไทยเรา

เผือกในเมืองไทยเท่าที่มีผู้จำแนกไว้มี ๔ ชนิด ได้แก่

๑. เผือกหอม เป็นชนิดหัวใหญ่ หนักหัวละประมาณ ๒-๓ กก. มีหัวเล็กติดอยู่กับหัวใหญ่เล็กน้อย ต้มรับประทานมีกลิ่นหอม กาบใบใหญ่สีเขียว

๒. เผือกเหลือง หัวขนาดย่อม หัวสีเหลือง

๓. เผือกไม้หรือเผือกไหหลำ หัวมีขนาดเล็ก

๔. เผือกตาแดง ที่ตาของหัวมีสีแดงเข้มมีหัวเล็ก ๆ ติดอยู่รอบหัวใหญ่ เป็นกลุ่มจำนวนมาก กาบใบและเส้นใบสีแดง

เผือกมีวิธีการปลูกอย่างไร

ฤดูปลูก

เผือกขึ้นได้ทั้งในที่ดินที่มีความชุ่มชื้นสูง ที่ลุ่ม และในที่ดอน น้ำไม่ท่วม จึงมีการปลูกเผือกในพื้นที่ทั้งสองประเภท ในที่ลุ่มยังสามารถปลูกเผือกได้ทั้งในน้ำเหมือนปลูกข้าว กับปลูกบนดินที่ชื้นแต่ไม่มีน้ำขัง การปลูกในน้ำคล้ายการทำนาปฏิบัติกันมากในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา (ฮาวาย) ประเทศไทยไม่นิยม

พวกที่ปลูกในที่ลุ่มริมแม่น้ำลำคลอง น้ำท่วมในหน้าน้ำนั้น หลังจากน้ำลดแล้วจึงทำการปลูกเผือกได้ประมาณเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ และจะไปเก็บก่อนที่น้ำจะท่วมในปีต่อไป ในราวเดือน กรกฎาคม-สิงหาคม

พวกที่ปลูกในที่ราบน้ำไม่ท่วม และไม่มีการให้น้ำชลประทาน ปลูกโดยอาศัยน้ำฝน ต้องปลูก ต้นฤดูฝน ประมาณเดือน พฤษภาคม-มิถุนายน

การเลือกที่และการเตรียมดิน

เผือกชอบขึ้นในที่ที่มีอุณหภูมิประมาณ ๒๑-๒๗ องศาเซลเซียส ต้องการน้ำฝนประมาณ ๑,๗๕๐-๒,๕๐๐ มม. ต่อปี ถ้าปริมาณน้ำฝนน้อยต้องมีการให้น้ำ เผือกขึ้นได้ในดินหลายชนิด ชอบดินที่มีหน้าดินลึก ระบายน้ำดี ดินร่วน มีระดับน้ำในดินสูงมี pH ๕.๕-๖.๕

การเตรียมดินเพื่อปลูกเผือกขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่จะปลูก ในรายที่ปลูกในที่ลุ่มเตรียมดินทันทีหลังจากน้ำลด โดยการไถคล้ายไถนา การเตรียมดินใช้จากน้ำลด โดยการไถคล้ายไถนา การเตรียมดินใช้แรงสัตว์มากกว่าใช้แทรกเตอร์ ตากดินไว้ประมาร ๑ เดือน จึงขุดกลับดินและย่อยดินให้ละเอียดเหมือนการเตรียมดินปลูกผัก ทำการยกร่องสูง ๓๐-๔๐ ซม. ห่างกัน ๗๐-๑๐๐ ซม ถ้าปลูกในนาคล้ายปลูกข้าวก็ไม่ต้องยกร่องเตรียมดินเหมือนเตรียมดินทำนา

ในที่ดอนน้ำไม่ท่วม เตรียมดินต้นฤดูฝนประมารเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน อาจใช้แทรกเตอร์ช่วยในการเตรียมดินได้ ไถ ๑ ครั้ง พรวน ๑-๒ ครั้ง ทำร่องลึก ๓๐ ซม เป็นแถวห่างกัน ๔๐-๖๐ ซม. การใส่ปุ๋ยคอกรองก้นหลุมช่วยให้เผือกเจริญงอกงามและผลผลิตสูง

วิธีปลูก

โดยทั่วไปเผือกไม่มีเมล็ดการขยายพันธุ์ทำโดยใช้หัวเล็ก ๆ อีกวิธีหนึ่งใช้ยอดหรือส่วนบนของหัวเหมือนจุดสับปะรด การปลูกโดยใช้หัวเล็ก ๆ ได้ปริมาณมากกว่า แต่การปลูกโดยใช้ส่วนบนของหัวขึ้นดีกว่า และได้ผลผลิตดีกว่า

การปลูกในนาแบบปลูกข้าวควรใช้ยอด

การปลูกด้วยหัวเล็ก ๆ จะต้องชำหัวเล็ก ๆ เหล่านี้ในแปลงที่เตรียมไว้อย่างดีให้งอกเสียก่อนวางหัวเรียงเป็นแถว เอาตาขึ้นข้างบน กลบด้วยดินละเอียดพอมิดหัวเผือก แล้วคลุมด้วยฟางหนาประมาณ ๒-๕ ซม. รดน้ำให้ชุ่มทุกวันประมาณ ๑๐-๑๕ วัน เมื่อแตกยอดยาวประมาณ ๑๐-๑๕ ซม. ย้ายลงปลูกในแปลงที่เตรียมไว้ ปลูกโดยวางหัวเล็ก ๆ หรือยอดของหัวลงในหลุมที่เตรียมไว้ ลึกประมาณ ๑๐-๑๕ ซม. หลุมละ ๑-๒ หัว กลบดินพอมิดหัวเผือก ไม่กลบจนเต็มหลุม หลังปลูก ถ้าเป็นฤดูฝนไม่ต้องรดน้ำ ถ้าเป็นฤดูแล้งหรือไม่มีฝนต้องรดน้ำจนกว่าต้นเผือกจะตั้งตัว ถ้าปลูกในนาควรใช้ยอดและปลูกลึก ๑๗-๒๕ ซม.

โดยทั่วๆ ใช้ระยะปลูก ๖๐x๖๐ ซม. จะถี่หรือห่างกว่านี้ก็ได้ เช่น ระยะแถว ๖๐-๑๒๐ ซม. ระยะหลุม ๔๐-๖๐ ซม. แล้วแต่ชนิดเผือกหัวเล็กหรือหัวใหญ่


เผือกมีการทะนุบำรุงอย่างไร

การกำจัดวัชพืช

การกำจัดวัชพืชเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง หลังจากปลูกจะต้องมีการกำจัดวัชพืชประมาณ ๓-๔ ครั้ง หลังจากกำจัดวัชพืชทุกครั้ง ต้องพรวนดินระหว่างแถวและกลบโคนต้นเผือกขึ้นมาเรื่อย จนกระทั่งดินเต็มหลุม ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา (ฮาวาย) ยากำจัดวัชพืชใช้ได้ผล สำหรับประเทศไทยยังไม่มีกรศึกษาในเรื่องนี้ กสิกรส่วนใหญ่กำจัดวัชพืชด้วยแรงงาน

ในระยะที่ต้นเผือกเจริญเติบโต จะมีหัวเล็ก ๆ เกิดรอบหัวใหญ่ ถ้าต้องการให้มีหัวขนาดใหญ่ควรตัดหัวเล็กรอบๆ ทิ้ง ใช้เสียมหรือมีดตัดไม่ให้ถูกต้นเดิม

การใส่ปุ๋ย

การปลูกเผือกส่วนใหญ่ปลูกที่ลุ่ม ดินมีความอุดมสมบูรณ์ จึงไม่สู้จำเป็นที่จะต้องใส่ปุ๋ยควรใส่ปุ๋ยคอกกันบ้างโดยใส่รองก้นหลุม และผสมน้ำรดเพื่อให้ผลผลิตสูง ในต่างประเทศมีการใส่ปุ๋ยกันโดยใช้ปุ๋ยไนโตรเจน ปริมาณ ๗-๑๓ กก./ไร่ ฟอสฟอรัสปริมาณ ๒-๔ กก./ไร่ และโพแทสเซียมปริมาณ ๘-๑๕ กก./ไร่ โดยประมาณ

การให้น้ำ

ถ้าปลูกในหน้าฝนไม่ต้องรดน้ำ แต่ในหน้าแล้งต้องให้น้ำตามความจำเป็น มักจะให้น้ำจนกว่าต้นเผือกตั้งตัว

โรคและแมลง

โรคที่เป็นมากแก่เผือกที่ปลูกในที่ลุ่ม ได้แก่ โรคโคนเน่า (soft rot) สำหรับเผือกที่ปลูกในที่ดอนมีโรคหัวเน่า (tuber rot) อีกโรคหนึ่งที่เป็นกับเผือกทั่วไป ได้แก ใบจุด (leaf spot)แมลงที่พบทำลายเผือกได้แก่ เพลี้ยอ่อนทำลายใบ


การเก็บหัวและรักษา

เผือกมีอายุแตกต่างกัน ตั้งแต่ ๖-๑๐ เดือนทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพันธุ์ที่ปลูกเผือกหอมที่ปลูกกันมากในประเทศไทย มีอายุประมาณ ๖ เดือน เมื่อใบเริ่มเหลือง เหี่ยว แสดงว่าหัวเผือกเริ่มแก่ เก็บหัวได้ การเก็บหัวใช้วิธีถอนขึ้นทั้งต้น หรือใช้เสียมหรือจอบขุด มักขุดในระยะที่ไม่มีฝน ขุดขึ้นมาแล้วตัดใบและรากทิ้งเหลือแต่หัว ล้างให้สะอาดส่งตลาด ถ้าไม่ตัดยอดจะเก็บได้นานกว่าเมื่อตัดยอดหัวเผือกมีน้ำหนักหัวละประมาณ ๑-๓ กก.

ถ้าต้องการเก็บรักษาหัวเผือกให้นานไม่ควรตัดยอดทิ้ง จะต้องเก็บในที่แห้ง อากาศถ่ายเทสะดวก หัวที่เก็บไว้ควรเป็นหัวที่ไม่มีบาดแผล อาจเก็บได้นาน ๔-๖ เดือน การเก็บในห้องเย็น ๑๐ องศาเซลเซียส สามารถเก็บได้นานถึง ๖ เดือน

ผลผลิตของเผือกแตกต่างกันตามพันธุ์ที่ปลูก โดยเฉลี่ยให้ผลผลิตประมาณ ๑-๒.๕ ตัน/ไร่ ถ้าบำรุงรักษาดี มีการให้น้ำ ให้ปุ๋ย ผลผลิตอาจถึง ๔ ตัน/ไร่

ประโยชน์

ส่วนประกอบของส่วนต่าง ๆ ของเผือก มีดังนี้

หัวเผือก หัวเผือกประกอบด้วยแป้งมากมาย เนื้อละเอียด องค์ประกอบของหัวเผือกโดยประมาณ ได้แก่ ความชื้นร้อยละ ๖๓-๘๕ คาร์โบไฮเดรตร้อยละ ๑๓-๒๙ โปรตีนร้อยละ ๑.๔-๓.๐ ไขมันร้อยละ ๐.๑๖-๐.๓๖ เส้นใยร้อยละ ๐.๖๐-๑.๑๘ เถ้าร้อยละ ๐.๖-๑.๓ มีวิตามินซีมากประมาณ ๗-๙ มิลลิกรัม/๑๐๐ กรัม ของส่วนที่กินได้ ไทอามีนประมาณ ๐.๘ มิลลิกรัม ไรโบฟลาวิน ๐.๐๔ มิลลิกรัม ไนอาซิน ๐.๙ มิลลิกรัม เม็ดแป้งมีขนาดเล็กมาก ประกอบด้วยสองประเภท ประเภทหนึ่งมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑- ๑.๕ ไมครอน อีกประเภทหนึ่งมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๔ ไมครอนด้วยเหตุนี้แป้งเผือกจึงย่อยง่าย แต่ไม่เหมาะที่จะใช้ในด้านอุตสาหกรรมแป้ง

ใบและยอดเผือก ทั้งใบและยอดใช้เป็นผักได้ มีวิตามิน เอ และวิตามิน ซี สูง ในใบมีวิตามิน เอ ๒๐,๘๘๕ ไอ.ยู.(IU) ต่อ ๑๐๐ กรัม ของส่วนที่กินได้ มีวิตามินซี ๑๔๒ มิลลิกรัม/๑๐๐ กรัม ในยอดมีวิตามินเอ ๓๓๕ ไอ.ยู. ต่อ ๑๐๐ กรัม มีวิตามินซี ๘ มิลลิกรัม/๑๐๐ กรัม

เนื้อมีสีต่าง ๆ กันตามชนิด เนื้อเหนียวกว่ามันเทศ ส่วนใหญ่ใช้เป็นอาหารที่สำคัญของประชากรในหลายประเทศ เช่น ต้ม เผา อบ ทอด ตาก แห้ง ทำขนมรับประทาน นอกจากนี้บางแห่งทำเป็นแป้งเพื่อทำขนมปัง อาหารทารก เครื่องดื่ม ขนม ใช้เป็นอาหารเพื่อป้องกันโรคแพ้บางอย่างในทารก และใช้แทนธัญพืชในการรักษาโรคเกี่ยวกับกระเพาะลำไส้ ใบอ่อน ก้านใบใช้รับประทานได้บางประเทศใช้ใบอ่อนและก้านใบเผือกประกอบเป็นอาหารได้หลายอย่าง


0 ความคิดเห็น:


Blogger Templates by Isnaini Dot Com. Powered by Blogger and Supported by Urban Designs